ในอีก 10 ปีข้างหน้า มะเร็ง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจ อัมพาต อัมพฤกษ์ ความพิการแต่กำเนิด และความพิการจากสาเหตุต่างๆ เป็นภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรังที่กำลังทวีความรุนแรงมากขึ้น และส่งผล ต่อภาระค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของครัวเรือนไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตระหนักในความสำคัญของการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังจึงส่งเสริมสนับสนุนศูนย์ส่งเสริมมิตรบำบัด ด้วยแนวคิด "มิตรภาพบำบัด" ซึ่งพัฒนาจากการทำงานของเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง ที่เป็นการรวมตัวกันระหว่างผู้ป่วย ผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์สาธารณสุข แพทย์ พยาบาลและอาสาสมัคร ด้วยจุดประสงค์หลักคือ การเสริมสร้างกำลังใจซึ่งกันและกันในหมู่ผู้ที่ทำงาน (แพทย์ พยาบาล) ญาติ และผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การต่อสู้กับการเจ็บป่วยร่วมกัน จุดแข็งของเครือข่ายเพื่อนมะเร็ง คือ ทำให้สังคมได้รับรู้และตระหนักถึงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงกันของกาย จิต วิญญาณ ที่เข้มแข็ง กิจกรรมของตัวอย่างกลุ่มผู้รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด ในการทำให้สังคมเปลี่ยนการรับรู้ว่าเป็นผู้ป่วยโรคมะเร็งก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างยอดเยี่ยม
        ศูนย์ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด จึงไม่ได้หมายถึงเพียงสถานที่ หากเป็น "พื้นที่" ที่เป็นศูนย์รวมของมิตรจิต มิตรใจ จากเพื่อนผู้ให้ที่เป็นผู้ป่วย ผู้ดูแล จิตอาสา แพทย์ พยาบาลผู้ให้บริการ มาร่วมกันเยียวยารักษาผู้มารับบริการด้วยหัวใจและมิตรภาพ นอกเหนือจากการรักษาทางการแพทย์ กิจกรรมสำคัญของศูนย์ ฯ มีดังนี้
- ศูนย์กลางข้อมูล การให้การช่วยเหลือตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้ป่วยเรื้อรัง มีฐาน ข้อมูลของผู้เชี่ยวชาญเฉพาะโรค จิตอาสา ที่จะสามารถให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ป่วยและญาติ
- แหล่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ กิจกรรมของชมรม และผลงานของชมรม
- จุดนัดพบ ของผู้ป่วย ญาติ จิตอาสาและผู้สนใจ
- แหล่งให้ความรู้ อบรมและพัฒนาทักษะให้แก่อาสาสมัคร และสมาชิก
- ศูนย์กลางการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และพัฒนาศักยภาพศูนย์อย่างมีส่วนร่วม เช่น ดนตรีบำบัด ธรรมะบำบัด
        มิตรภาพบำบัด จึงเป็นวิถีใหม่ของการดูแลผู้ป่วยเรื้อรัง ที่โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการจัดให้มีพื้นที่เพื่อการดูแลเยียวยารักษาจิตใจด้วยความเอื้ออาทร เพิ่มเสริมจากการรักษาพยาบาลด้วยเทคนิควิธีการทางการแพทย์ เพราะผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง ไม่ได้ต้องการเพียงยาหรือการตรวจรักษาเท่านั้น แต่สิ่งที่ต้องการมากกว่าคือ "กำลังใจ" ที่จะเป็นพลังต่อสู้กับโรคร้ายได้ พลังของ "มิตรภาพ" ที่มาจากครอบครัว ผู้ดูแล แพทย์ พยาบาล ผู้ให้บริการ รวมถึงมิตรสหายที่รายรอบตัว อันอาจถือได้ว่าเป็น "มิตรภาพบำบัด" ที่เป็นยาขนานวิเศษที่ช่วยเยียวยาผู้ป่วยเรื้อรัง