ความเจ็บป่วยเป็นความทุกข์อย่างหนึ่งของชีวิต ทุกๆ คนต่างเคยเจ็บป่วยกันมาแล้วทั้งนั้น และยังจะต้องพบกับความเจ็บป่วยอีกจนกว่าชีวิตจะหาไม่ เมื่อมีความเจ็บป่วยยาวนานหรือร้ายแรง นอกจากความเจ็บป่วยทางกาย ผู้ป่วยอาจจะได้รับความทุกข์ทางใจ นั่นก็เป็นเพราะว่าร่างกายกับจิตใจมีความสัมพันธ์กัน
การใช้ธรรมะเพื่อเยียวยาความเจ็บป่วย อาจจะไม่มีผลต่อความเจ็บป่วยด้านร่างกายโดยตรง แต่ส่งผลต่อการพัฒนาจิตใจ เมื่อใจปกติสุข สงบนิ่ง สบาย เมื่อนั้นก็จะส่งผลต่อร่างกายที่กำลังอ่อนแรง เพราะเมื่ออวัยวะที่ทำงานผิดปกติกลับคืนสู่การทำงานตามธรรมชาติ ก็จะสามารถเสริมสร้างภูมิต้าน เพิ่มความเข้มแข็งพร้อมสู้กับความเจ็บป่วยต่างๆ
1) สวดมนต์ เพื่อความสงบนิ่ง มั่นคง
อาจจะไม่บ่อยนักที่จะเห็นภาพคนไข้ลุกขึ้นมานั่งสวดมนต์ แต่การสวดมนต์ทุกเย็น วันละประมาณครึ่ง ชั่วโมงจะช่วยให้รู้สึกสบายใจ โล่งโปร่ง ขณะที่สวดมนต์ ใจจะได้พักจากการคิดวิตกกังวลจากเรื่องต่างๆ มา จดจ่ออยู่กับการสวดมนต์ ช่วยให้คลื่นสมองสงบ ลืมสิ่งที่เป็นไปชั่วคราว
2) อ่านหนังสือหรือฟังซีดีธรรมะ ในปัจจุบัน มีสื่อจำนวนมากที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับแนวคิดด้านธรรมะ แต่เรียบเรียงด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายประกอบกับการยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม ง่ายต่อการนำไปปฏิบัติต่อได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น การอ่านหนังสือหรือฟังซีดีธรรมะน่าจะเป็นอีกหนึ่งหนทางที่ทำให้เข้าถึงหลักธรรมได้ง่าย นอกจากนี้ยังมีสื่อธรรมะประเภทอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้นตามการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เช่น วีซีดี ดีวีดี เป็นต้น
3) กิจกรรมเพื่อความสุขทางใจ หลักคำสอนทางธรรมจะสัมฤทธิ์ผลให้เห็นได้จริงก็ต่อเมื่อได้ลงมือปฏิบัติ และเผื่อแผ่ผลบุญนั้นๆ ให้กับ บุคคลอื่นๆ ที่กำลังประสบกับความยากลำบากหรือด้อยโอกาสกว่า เช่น การทำบุญ ตักบาตร ถวายสังฆทาน บริจาคทาน หรือเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรการกุศลต่างๆ