วิสัยทัศน์ รพ.ค่ายสุรนารี : เป็นผู้นำการบริการสุขภาพ พันธกิจ :พัฒนาคุณภาพด้านการบริการสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ทั้งทางคลินิกและฝ่ายสนับสนุนบริการ โดย ตอบสนองนโยบายกองทัพบก และกรมแพทย์ทหารบก ค่านิยม : 1. การทำงานเป็นทีม (Team work) 2. มุ่งเน้นผู้รับบริการ(Customer Focus) 3. เรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifetime Learning) 4. พัฒนาอย่างต่อเนื่อง (CQI)

หน้าแรก ประวัติ รพ.ค่ายสุรนารี คณะผู้บริหาร รพ.ค่ายุรนารี ติดต่อ เวบบอร์ด
 

การวางแผนภาษีของแพทย์


          ในทางภาษีจะเรียกวิชาชีพอิสระนี้ว่าการประกอบโรคศิลป ซึ่งจะหมายความรวมถึงแพทย์ ทันตกรรม เภสัชกรรม พยาบาล ผดุงครรภ์ กายภาพบำบัด และเทคนิคการแพทย์ กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพในโรงพยาบาล เหล่านี้มักจะมีปัญหาในการวินิจฉัยว่าจะจำแนกเป็นเงินได้ประเภทใด ตามมาตรา40 (1) หรือ (2) หรือ (6) เพราะแต่ละประเภทจะเสียภาษีต่างกันถ้าเข้าใจผิดหรือเสียภาษีผิดก็อาจถูกประเมินภาษีใหม่แถมต้องเสีย เบี้ยปรับเงินเพิ่ม ซึ่งเงินได้ของแพทย์หรือกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพในโรงพยาบาล ส่วนใหญ่จะเป็นเงินได้ตาม ตามมาตรา 40 (1) เป็นเงินเดือน ค่าจ้าง ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 40% (แต่ไม่เกิน 60,000.00บาท) หรือ ตามมาตรา 40 (2) เงินได้จากการรับทำงานให้ เงินได้ในกรณีนี้คล้ายกับเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ข้อแตกต่าง
คือ มาตรา 40 (2) เป็นค่าตอบแทนที่โรงพยาบาลคิดให้ตามผลสำเร็จของงานไม่ใช่ลักษณะนายจ้างกับลูกจ้าง ซึ่งหักค่าใช่จ่ายรวมกันกับเงินเดือน ค่าจ้าง ตามมาตรา40 (1) ได้เพียง 40% (แต่ไม่เกิน 60,000.00 บาท) แต่ถ้าเป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ตามมาตรา 40 (6) สามารถเลือกหักค่าใช้จ่ายได้ 2 แบบคือ หักเหมาได้ 60% หรือจะเลือกหักค่าใช้จ่ายตามที่เกิดขึ้นจริงก็ได้ เช่น ค่าเช่าคลีนิค ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่ายาที่ซื้อมา เป็นต้น ซึ่งแน่นอนบรรดาแพทย์ทั้งหลายอยากให้ตีความเข้าข้อนี้เพราะสามารถหักค่าใช้จ่ายได้สูงกว่าการตี ความเข้าตามมาตรา 40 (1) หรือ (2) ซึ่งทางกรมสรรพากรก็ได้ออกแนวทางการพิจารณาไว้ดังนี้
         1.กรณีแพทย์กินเงินเดือนอย่างเดียว ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) โดยแพทย์ต้องมีความสัมพันธ์กับโรงพยาบาลในฐานะนายจ้างกับลูกจ้าง เช่น แพทย์ที่ทำงานประจำในโรงพยาบาล ของเอกชนหรือรับราชการในโรงพยาบาลของรัฐ หรือเป็นลูกจ้างในบริษัทห้างร้านต่างๆ รวมถึงค่าล่วงเวลาจากการ
เข้าเวรหรือค่าตอบแทนพิเศษในการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลที่แพทย์กินเงินเดือนอยู่ ในกรณีนี้แพทย์จะถูกหัก ภาษี ณ ที่จ่ายทุกเดือนเมื่อสิ้นปีต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.91 และชำระภาษีภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป โดยนำเงิน ได้ที่ได้รับตลอดทั้งปีมารวมคำนวณภาษีได้เงินภาษีเท่าใดให้นำภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้ทุกเดือนมาหักออกซึ่งอาจ จะต้องจ่ายเพิ่มตามจำนวนภาษีที่ยังขาดอยู่หรือถ้าภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายมีมากกว่าภาษีที่ต้องชำระก็สามารถขอคืน
ได้ภายใน 3 ปี นับแต่วันสุดท้ายของปีที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายเกินไป
          2.กรณีแพทย์กินเงินเดือนโรงพยาบาลไม่ว่าจะเป็นของรัฐหรือเอกชนและมาเปิดคลีนิคส่วนตัวนอกเวลา ราชการหรือนอกเวลางาน
เงินเดือนที่ได้รับเสียจะภาษีเหมือนกับกรณีที่ 1 แต่รายได้ที่มาจากการเปิดคลีนิคส่วนตัวถือเป็นเงินได้จากการประ กอบวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) ตามประมวลรัษฎากรซึ่งหักค่าใช้จ่ายแบบเหมาได้ 60% หรือถ้ามีค่าใช้จ่าย จริงมากกว่าก็มีสิทธิขอพิสูจน์เพื่อหักได้ กรณีนี้แพทย์ต้องยื่นแบบเสียภาษีปีละ2 ครั้งคือครั้งแรกยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ถึง 30 กันยายน โดยนำเงินได้ที่ได้รับจากการเปิดคลีนิคส่วนตัวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง
วันที่ 30 มิถุนายน มารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี ส่วนครั้งที่สองยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ภายในวันที่ 31 มีนาคมของปีถัดไป
          โดยนำเงินได้ที่ได้รับตลอดทั้งปี (แม้จะเป็นเงินได้ที่ได้รวมคำนวณเสียภาษีไปแล้วในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 94 ในครั้งแรก) มารวมกับเงินเดือนที่ได้รับตลอดทั้งปีมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีว่าเป็นเงินภาษีเท่าใดให้นำภาษีที่เสีย ไปแล้วในการยื่นแบบครั้งแรกและภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือนทุกเดือนมาหักออก คงเสียภาษีแต่เพียงจำนวน ที่ยังขาดอยู่เท่านั้นหรือถ้าคำนวณแล้วภาษีที่ชำระในครั้งแรกและภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายไว้มีจำนวนมากกว่าภาษี ที่ต้องชำระ ก็มีสิทธิขอคืนได้ภายใน 3 ปีนับแต่วันสุดท้ายที่ถูกหักภาษีเกินไป
          3.กรณีแพทย์เปิดกิจการสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลโดยมีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน  รวมทั้งการตรวจรักษาพยาบาล และจำหน่ายยา กรณีนี้ไม่ถือเป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) แต่ถือเป็นเงินได้จากการประกอบธุรกิจ ตามมาตรา 40 (8) ซึ่งสามารถหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาได้มากกว่าเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) คือหักเหมาได้ร้อยละ 75 แต่ถ้าค่าใช้จ่ายจริงมีมากกว่าก็มีสิทธิ
ขอพิสูจน์เพื่อขอหักได้ ในกรณีนี้การยื่นแบบ เพื่อเสียภาษีต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 และ 90 และชำระภาษีปีละ 2 ครั้งเหมือนกับกรณีที่ 2 ตามที่กล่าวมาแล้ว
           4.กรณีแพทย์กินเงินเดือนโรงพยาบาลแห่งหนึ่งแล้วไปรับตรวจรักษาคนไข้ในโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งเป็น ประจำตามช่วงเวลาที่ตกลงกันไว้
โดยได้รับค่าจ้างในลักษณะที่แพทย์เป็นผู้กำหนดค่าตรวจรักษาคนไข้ แต่ละรายเองและทางโรงพยาบาลเป็นผู้เรียกเก็บเงินจากคนไข้แล้ว จึงแบ่งจ่ายให้แพทย์ตามเปอร์เซ็นต์ หรืออัตราส่วนที่ตกลงกันไว้ กรณีนี้จะเสียภาษีปีละ 2 ครั้ง เหมือนกรณีที่ 2 เงินที่ได้รับจากโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่ไปตรวจรักษา คนไข้ถือเป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระตามมาตรา40 (6) แต่เงินได้ที่จะนำมาคำนวณนั้นต้องเป็นเงิน จากค่าตรวจรักษาผู้ป่วยทั้งจำนวนไม่ใช่เฉพาะส่วนแบ่งที่ได้รับจากโรงพยาบาล (ดูหมายเหตุประกอบ)
          5.กรณีแพทย์กินเงินเดือนโรงพยาบาลแห่งหนึ่งและไม่ได้ไปตรวจรักษาที่โรงพยาบาลอื่นเป็นประจำแต่ทาง  โรงพยาบาลอื่น ได้ขอให้ไปตรวจรักษาคนไข้บางราย หรือคนไข้บางรายได้ขอให้ทางโรงพยาบาลติดต่อ แพทย์มารักษาให้โดยแพทย์ได้รับค่าจ้างเป็นรายครั้ง ที่ไปทำงานในลักษณะที่แพทย์เป็นผู้กำหนดค่ารักษา คนไข้แต่ละรายเองแล้วแต่ความยากง่ายในการรักษาและให้โรงพยาบาล
เป็นผู้เรียกเก็บเงินจากคนไข้แล้ว จึงแบ่งจ่ายให้แพทย์ตามเปอร์เซ็นต์หรืออัตราที่ตกลงกันไว้ กรณีนี้เงินได้จากโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งถือเป็นเงินได้
จากการประกอบวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) เสียภาษี ปีละ 2 ครั้ง เช่นเดียวกับกรณีที่ 2
          6.กรณีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เช่น วิสัญญีแพทย์ซึ่งกินเงินเดือนโรงพยาบาลแห่งหนึ่งไปรักษาคนไข้ที่โรงพยาบาลอีก แห่งหนึ่งเป็นครั้งคราว แล้วแต่ทางโรงพยาบาล จะขอมาและแพทย์ต้องเตรียมเครื่องมือดมยาและตัวยาไปเองโดย ได้รับค่าจ้างจากโรงพยาบาลในลักษณะที่แพทย์เป็น ผู้กำหนดค่ารักษาคนไข้แต่ละรายเองแล้วแต่ความยากง่าย ในการรักษา รายได้ไม่แน่นอนและให้โรงพยาบาล เป็นผู้เรียกเก็บเงินค่ารักษาจากคนไข้ แล้วจึงแบ่งจ่ายให้แพทย์ ตามเปอร์เซ็นต์หรืออัตราส่วนที่ตกลงกัน กรณีนี้เงินที่ได้จากโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งที่เรียกไปรักษา ถือเป็นเงิน
ได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) เสียภาษีปีละ 2 ครั้งเช่นเดียวกับกรณีที่ 2
         7.กรณีสูตินรีแพทย์ซึ่งกินเงินเดือนจากโรงพยาบาลแห่งหนึ่งและมีรายได้พิเศษในการรับฝากครรภ์จากโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งซึ่งรายได้ส่วนนี้ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับจำนวนคนไข้และความพอใจของคนไข้ที่จ่ายให้แพทย์และ ทางโรงพยาบาลแห่งนั้นเป็นผู้ออกใบเสร็จ เรียกเก็บเงินจากคนไข้แล้วแบ่งจ่ายให้แพทย์ตามเปอร์เซ็นต์หรือ อัตราส่วนที่ตกลงกันไว้ กรณีนี้รายได้พิเศษดังกล่าว ถือเป็นเงินได้ จากการประกอบวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40  (6) เสียภาษปีละ 2 ครั้ง เช่นเดียวกับกรณีที่ 2
          8.กรณีแพทย์ที่รับราชการในโรงพยาบาลของรัฐหรือทำงานในโรงพยาบาลเอกชนแล้ว มีการรับตรวจรักษา พยาบาล และดูแลสุขภาพของพนักงานบริษัท อีกแห่งหนึ่งโดยตกลงไปปฎิบัติหน้าที่ที่บริษัทสัปดาห์ละกี่วัน ตั้งแต่เวลาเท่าใดถึงเท่าใดแล้วแต่จะตกลงกัน และได้รับค่าจ้างเป็นจำนวนที่แน่นอน ทุกเดือนกรณีนี้เงินที่ได้รับ จากบริษัทผู้ว่าจ้าง ถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ตามมาตรา 40 (2) และบริษัทผู้จ่ายเงินต้องหักภาษี
ณ ที่จ่ายเหมือนจ่ายเงินเดือนให้พนักงานของตนและกรณีนี้แพทย์ต้องนำเงินค่าจ้างที่ได้รับจากบริษัทมารวม กับเงินเดือนที่ได้รับจากโรงพยาบาล ที่ทำงานอยู่มาคำนวณภาษีเหมือน กรณที่ 1 แต่ถ้าแพทย์ขอเปลี่ยนสัญญา ใหม่เป็นว่าเมื่อพนักงานของบริษัทเจ็บป่วย ให้บริษัททำหนังสือส่งตัว ไปรักษาที่คลีนิคของแพทย์หรือให้แพทย์ มาประจำที่บริษัทเฉพาะช่วงเช้าหรือเย็นเพื่อความสะดวกแก่พนักงานของบริษัทโดยแพทย์จะเป็นผู้กำหนด
ค่าตรวจรักษาคนไข้แต่ละรายเองและบริษัทจะรวบรวมค่าตรวจรักษาให้แพทย์เดือนละครั้งตามจำนวนพนักงาน ที่ไปตรวจรักษาโดยในแต่ละเดือน จะได้รับเงินไม่เท่ากัน กรณีนี้ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) บริษัทผู้จ่าย เงินต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 3 และเสียภาษีปีละ 2 ครั้งเหมือนกรณีที่ 2 ซึ่งจะเสียภาษีน้อยกว่ากรณีที่ 8
          9.กรณีแพทย์ซึ่งทำงานเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลเอกชนได้รับเงินเดือนตามอัตราที่ตกลงกันและทางโรง พยาบาล ตกลงให้แพทย์เปิดคลีนิคพิเศษนอกเวลาทำการปกติ โดยใช้สถานที่ของโรงพยาบาลเป็นที่ตรวจรักษา คนไข้แล้วแพทย์จะแบ่งรายได้ให้โรงพยาบาล ตามอัตราที่ตกลงกันไว้ กรณีนี้จะเสียภาษีปีละ 2 ครั้งเหมือน กรณีที่ 2 ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6)
          หมายเหตุ : กรณีผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปได้รับค่าตอบแทนที่จะเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6)
ต้องมีลักษณะดังนี้
          1.กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปทำสัญญาหรือข้อตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์ เพื่อประกอบโรคศิลปในนามของผู้ได้รับอนุญาตเพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วยโดย ผู้ได้รับอนุญาตเป็น ผู้เรียกเก็บเงินค่าตรวจรักษาเอง และตกลงแบ่งเงินให้สถานพยาบาลเป็นลายลักษณ์อักษร
          2.กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปทำสัญญาหรือข้อตกลงกับสถานพยาบาลเพื่อขอใช้สถานที่ เครื่องมือ และอุปกรณ์เพื่อประกอบโรคศิลป ในนามของผู้ได้รับอนุญาต เพื่อตรวจและรักษาผู้ป่วยโดยมีข้อตกลงแบ่งเงิน ค่าตรวจรักษา โดยสถานพยาบาลจะเป็นผู้เรียกเก็บเงินค่าตรวจรักษา แทนผู้ได้รับอนุญาตแล้วนำมาจ่ายให้ผู้ ได้รับอนุญาตเพื่อแบ่งให้แก่สถานพยาบาลต่อไป ทั้งกรณีที่ 1 และ 2 กรมสรรพากรให้ถือว่าเงินที่ผู้ได้รับ
อนุญาตเรียกเก็บจากผู้ป่วยทั้งจำนวนเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) ไม่ใช่เฉพาะเงินส่วนแบ่งที่เหลือหลังจาก หักให้สถานพยาบาลออกแล้วและกรณีนี้ เนื่องจากสถานพยาบาลไม่ใช่ผู้จ่ายเงินได้จึงไม่มีหน้าที่ต้องหัก ภาษี ณ ที่จ่าย ตามข้อ 7 แห่งคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.4/2528 และไม่ต้องกรอกรายการจ่ายเงินดังกล่าวในบัญชี พิเศษตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรฉบับที่ 10 และหนังสือกรมสรรพากรที่ กค 0811/ว.2497 ลงวันที่
29 มีนาคม 2543 โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3193/2543 สนับสนุนเมื่อเป็นเช่นนี้การเป็นแพทย์พิเศษที่ไม่ ่กินเงินเดือนหรือรับค่าตอบแทนตายตัว แต่รับเป็นเงินส่วนแบ่งหรือเปอร์เซ็นต์จากโรงพยาบาลมากหรือน้อยแล้ว แต่จำนวนคนไข้และค่าตรวจรักษาที่เรียกเก็บ ย่อมทำให้เงินที่ได้รับในท้ายสุดมีจำนวนมากกว่าเงินที่ได้รับจาก การกินเงินเดือนหรือค่าตอบแทนตายตัว กรณีถ้าแพทย์มีอิสระในการกำหนด ค่าตรวจรักษาอย่างเต็มที่โดยไม่มี การกำหนดอัตราค่าตรวจขั้นสูงโดยโรงพยาบาลที่แพทย์ทำงานอยู่และทำสัญญากับโรงพยาบาลให้เป็นไปตาม
ข้อ 1 และ 2 ตามหมายเหตุประกอบโดยเคร่งครัดรายได้ที่แพทย์ได้รับจะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (6) ซึ่ง เสียภาษีน้อยกว่า           อย่างไรก็ตามในหมายเหตุประกอบนี้กรมสรรพากรให้ถือเอาเงินที่เรียกเก็บจากผู้ป่วยเป็น เงินได้ของแพทย์ทั้งจำนวนมิใช่ เฉพาะเงินส่วนแบ่งที่เหลือหลังจากหักให้โรงพยาบาลแล้วฉะนั้นในการยื่นแบบ แสดงรายการเพื่อเสียภาษีแพทย์ จึงต้องนำเงินที่เรียกเก็บจากผู้ป่วยทั้งจำนวนมาคำนวนไม่ใช่เฉพาะนำเงินส่วน แบ่งมาคำนวณและในกรณีนี้โรงพยาบาลก็ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับเงินส่วนแบ่งที่แพทย์ได้รับ ข้อควรระวัง การวางแผนภาษีโดยตกลงแบ่งค่าตรวจรักษากับโรงพยาบาลโดยโรงพยาบาลจะประกันรายได้
ขั้นต่ำก็ไม่เป็นที่ยอมรับของกรมสรรพากร ซึ่งจะถือว่าเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) ไม่ใช่ (6) ตามหนังสือกรม สรรพากรที่ กค 0802/14899 ลว.25 สิงหาคม 2537 ขอให้สังเกตว่าถ้าเป็นกรณีที่ผู้ป่วยเป็นคนไข้ของโรงพยาบาล ไม่ใช่คนไข้ที่แพทย์นำมารักษา ในโรงพยาบาลเอง เป็นครั้งคราวและแพทย์มีกำหนดระยะเวลาปฎิบัติงานที่แน่ ่นอนและมีรายได้ในลักษณะเป็นประจำทางกรมสรรพากรจะถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แม้จะมีข้อตกลง แบ่งรายได้และประกันรายได้ขั้นต่ำของแพทย์ฉะนั้นถ้าคนไข้ที่แพทย์ตรวจเป็นคนไข้ที่แพทย์นำมาเองและไม่มี
กำหนดระยะเวลาปฎิบัติงานที่แน่นอนทั้งไม่มีรายได้ในลักษณะประจำและไม่มีการประกันรายได้ขั้นต่ำไว เงินที่แพทย์ได้รับก็น่าจะเข้าลักษณะเป็นเงินได้ ตามมาตรา 40 (6) ซึ่งเสียภาษีน้อยกว่า สำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มอาชีพแพทย์เป็นหนึ่งในวิชาชีพอิสระ 3 ประเภท คือ (การประกอบโรคศิลป การว่าความ
และ การสอบบัญชี) ที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ทั้งนี้จะต้อง เป็นเงินได้ตามชนิด ที่กำหนดในกฏหมายควบคุม การประกอบวิชาชีพดังกล่าวเท่านั้น นอกจากนี้ยังยกเว้นภาษี มูลค่าเพิ่มสำหรับการให้บริการรักษาพยาบาล ของสถานพยาบาลด้วยตามมาตรา 81 (1) (ญ) เช่น การตรวจ วินิจฉัยโรค การตรวจเลือด อุจจาระ ปัสสาวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงอาหารคนไข้ ค่านมผงเลี้ยงดูเด็ก แรกเกิดหลังมารดาคลอดหรือพักรักษาตัวก็ถือเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาพยาบาลซึ่งได้รับการยกเว้นภาษี
มูลค่าเพิ่มด้วย สำหรับเหตุผลที่การให้การบริการดังกล่าว ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อไม่ให้ค่ารักษาพยาบาล สูงเกินไปซึ่งจะมีผลกระทบต่อประชาชน ผู้เข้ารับการรักษาพยาบาล ดังนั้นการวางแผนภาษีของนายแพทย์ ทั้งหลายจึงควรพยายามทำให้เงินได้ต่างๆ ที่ได้มาให้เป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระตามมาตรา 40 (6) ให้มากที่สุดเพราะหักค่าใช้จ่ายได้สูงกว่าตามมาตรา 40 (1) และ (2) หรืออาจจัดตั้งเป็นคณะบุคคลเพื่อแยก เป็นหน่วยภาษีใหม่ที่พอจะลดภาระลงได้บ้างส่วนค่ารักษาพยาบาล, ค่ายา และค่าเวชภัณฑ์ต่างๆ ไม่จำเป็น
ต้องแยกหน่วยภาษีเพื่อลดภาระภาษีมูลค่าเพิ่มเพราะทางกรมสรรพากร วินิจฉัยแล้วว่าค่ารักษาพยาบาลที่ได้
รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นรวมถึงค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ต่างๆแล้ว

อ้างอิงมาจาก : http://members.fortunecity.com/payom/tax9.html

 
รวบรวมโดย BABY

 

   
 
   © 2009 Fort Suranari Hospital